เมื่อ “รูปเด็ก” กลายเป็นคอนเทนต์ออนไลน์ ภัยร้ายของเด็กยุคใหม่
ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือ ติ๊กต็อก ปัจจุบันเรามักจะได้เห็นภาพหรือคลิปไปจนถึงการไลฟ์สดของเด็กน้อยน่ารักในหลากหลายอิริยาบถ ทั้งลูกหลานของคนใกล้ตัว หรือบรรดา “ลูกคนดัง” ทั้งลูกดารา ลูกศิลปินต่างๆ ในสังคม ซึ่งบางคนถึงกับสร้างแอคเคาท์สื่อสังคมโซเชียลให้ลูกโดยเฉพาะเลยทีเดียว สิ่งเหล่านี้เหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาในสังคม เนื่องจากเราเห็นจนชินตา เผลอๆ เราเองก็เคยลงรูปลูกหลานในโซเชียลเหมือนกัน
แม้ว่าเรื่องเหล่านี้จะมีข้อดี เช่น ได้แบ่งปันความน่ารักให้ญาติ และเพื่อนๆ มีโฆษณาติดต่อให้เด็กรีวิวสินค้าผ่านโซเชียล ได้เป็นศิลปินเด็ก เป็นต้น แต่ข้อเสียของการให้เด็กมีตัวตนในโลกออนไลน์ตั้งแต่อายุยังน้อย (บางคนตั้งแต่เกิดได้ไม่กี่นาที!) ก็เป็นเรื่องที่พ่อแม่ หรือผู้ปกครองยุคนี้ต้องรู้! และจำเป็นจะต้องศึกษาก่อนตัดสินใจเปิดบัญชีโซเชียลมีเดียให้กับลูกหลานที่ยังไม่รู้ความ รวมไปถึงการไลฟ์สดหรือการลงภาพลูกโดยที่ลูกไม่สามารถปฏิเสธได้ คำว่า “Sharenting” อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูคนไทยกันสักเท่าไรนัก โดยคำนี้มาจากคำว่า Share รวมกับคำว่า Parenting หมายถึง “การเลี้ยงลูกผ่านโซเชียลมีเดีย” ใช้เรียกพฤติกรรมของผู้ปกครองที่มักโพสต์รูป หรือวิดีโอเด็กในสถานการณ์ต่างๆ ลงบนโซเชียลมีเดียช่องทางต่างๆ โดยในต่างประเทศมีการวิจัย และคำเตือนจากนักจิตวิทยาเด็ก ให้งดทำการโพสต์ดังกล่าว มาแล้วหลายครั้งแล้วก่อนหน้านี้ เพราะจะทำให้เด็กที่เติบโตมาโดยไม่มีความเป็นส่วนตัว เด็กจะขาดความเข้าใจในเรื่องความยินยอม และสิทธิในข้อมูลของตนเอง นอกจากนี้ยังส่งผลถึงการขาดความพึงพอใจในชีวิต เพราะถูกตัดสินความสำเร็จ หรือความผิดต่างๆ ผ่านการโพสต์ และการบอกเล่าของพ่อแม่ ในโซเชียลมีเดียโดยบุคคลภายนอกครอบครัว